"วิธีดูแลดวงตาสำหรับคนตาแห้ง"
เพราะภาวะตาแห้งพบได้บ่อยมาก อาการ คือ แสบตา ระคายเคืองตา โดยเฉพาะหลังใช้สายตา หรือโดนลม
ก่อนที่จะปรึกษาจักษุแพทย์สามารถดูแลดวงตาเพื่อลดอาการตาแห้งเบื้องต้นก่อนด้วยวิธีดังนี้
✧ หลีกเลี่ยงพัดลม หรือแอร์เป่าหน้า
✧ จัดตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา เพื่อลดการระเหยของน้ำตา
✧ เตือนตัวเองให้กระพริบตาบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาเราจ้องหน้าจอ การกระพริบตาจะลดลงทำให้ตาแห้งมากขึ้น
✧ หยอดน้ำตาเทียม แนะนำแบบรายวันไม่มีสารกันเสีย หากตาแห้งมากสามารถหยอดได้บ่อยๆ
✧ หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ตาแห้ง เช่น ยาแก้แพ้ ยารักษาสิว
✧ หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์
✧ ใส่แว่นเพื่อช่วยกันลม หากตาแห้งมากแนะนำแว่นที่มีชิลด์รอบด้าน
หากยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และการรักษาอื่นๆ เช่น การใช้ยา eyelid spa อุดท่อระบายน้ำตา
"วิธีดูแลดวงตาของชาวออฟฟิศในยุคดิจิทัล"
ღ ลดอาการตาล้า
✧ กฎ 20-20-20
✧ พักสายตาทุก 20 นาที มองไปไกล 20 ฟุต นาน 20 วินาที
✧ ปรับแสงสว่าง contrast จากหน้าจอและในห้องให้พอเหมาะ
✧ ใส่แว่นแก้ไขสายตา
ღ ลดอาการตาแห้ง
✧ การกระพริบตาบ่อยๆ หลีกเลี่ยงพัดลมหรือแอร์เป่าหน้า
✧ หยอดน้ำตาเทียม
✧ จัดตำแหน่งหน้าจอให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา ให้ตาเหลือบลงเล็กน้อย
และหากมีค่าสายตาควรแก้ไขจะช่วยลดอาการดังกล่าว
"โปรเกรสซีฟเลนส์"
หลายๆคนอาจะเคยได้ยิน ชื่อ เลนส์โปรเกรสซีฟ แต่ยังไม่ทราบว่าคืออะไร เรามาทำความรู้จักเลนส์โปรเกรสซีฟกันค่ะ
โปรเกรสซีฟเลนส์ คืออะไร
คือเลนส์ที่มีหลายค่าสายตาในเลนส์เดียว ทั้งสั้น ยาวหรือเอียง และสายตายาวตามวัย
ส่วนบนของเลนส์จะเป็นค่าสายตาสำหรับมองไกล และจะมีค่าสายตายาวที่ค่อยๆเพิ่มจากส่วนบนลงล่าง ไว้สำหรับมองระยะกลางและใกล้ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์
เหมาะกับใคร
ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีสายตายาวตามวัย หรือสายตายาวเวลามองใกล้
โดยมีอาการคือ ไม่สามารถมองได้ชัดทุกระยะเหมือนเดิม มองใกล้จะต้องยืดมือออก
หากปกติสายตาสั้นต้องถอดแว่นเพื่อมองใกล้
ข้อดีของเลนส์โปรเกรสซีฟ
สะดวกในการใช้งาน มองได้ชัดทุกระยะในแว่นเดียว
ไม่ต้องคอยถอดใส่แว่น ไม่เสียบุคลิก
เลนส์สวยงามไม่มีรอยต่อ
ข้อเสียของเลนส์โปรเกรสซีฟ
โซนการมองของเลนส์จะแคบกว่าเลนส์ชั้นเดียวทั่วไป
ต้องใช้การเหลือบตาลงเพื่อหาระยะโฟกัสในระยะกลาง-ใกล้ ทำให้ต้องปรับตัวเมื่อเริ่มต้นใช้งาน
ราคาสูงกว่าเลนส์ชั้นเดียว
คำแนะนำในการใช้งาน
แม้อาจจะต้องปรับตัวในการใช้งานครั้งแรก
แต่หากเลือกค่าสายตา โครงสร้างเลนส์ กรอบแว่น และตำแหน่งสวมใส่เหมาะสม
เข้าใจการใช้งานที่ถูกต้อง ลูกค้าส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวได้ไม่ยาก
โดยจากการติดตามการใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟของลูกค้าทุกท่าน พบว่าอัตราความสำเร็จของลูกค้าในการใส่แว่นโปรเกรสซีฟของลูกค้าลุคซ์ โดยจักษุแพทย์ เป็น 100%
ลูกค้าทุกท่านสามารถปรับตัวและใส่เลนส์โปรเกรสซีฟได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นเลนส์ชนิดอื่นๆ
โดย 95% สามารถใส่ได้สำเร็จไม่ต้องปรับโครงสร้างเลนส์ หรือค่าสายตา แม้เลือกเลนส์รุ่นเริ่มต้น
"สายตายาวตามวัย"
"สายตายาวตามวัย" หรือ "สายตายาวมองใกล้" ปัญหาสายตาที่วัยเลข 4 ต้องเจอ จากกล้ามเนื้อในตาที่ใช้ในการเพ่งมองระยะใกล้มีกำลังลดลง และเลนส์ตาแข็งขึ้น
ทำให้ค่าสายตาในการมองระยะไกลจะแตกต่างจากค่าสายตาระยะใกล้ คือระยะใกล้จะเป็น+ หรือยาว มากกว่ามองไกล
อาการ
- เริ่มมองระยะใกล้ไม่ชัด เช่น ดูโทรศัพท์มือถือ ต้องยืดมือออกไปจึงจะชัดขึ้น
- หากเดิมใส่แว่นสายตาสั้นเล็กน้อย: ต้องถอดแว่นจึงจะมองใกล้ๆชัด
- ปวดตา ตาล้าง่ายขึ้น จากการต้องเพ่งมองระยะใกล้มากขึ้น
เลนส์สายตาที่แก้ไขสายตายาวตามวัย
-เลนส์ระยะเดียวมองใกล้ หรือแว่นอ่านหนังสือ:
ไว้ใส่เวลามองใกล้แต่จะสามารถมองได้แค่ช่วงระยะสั้นๆ หากจะมองระยะที่ไกลขึ้นจะเริ่มไม่ชัด ต้องถอดแว่น ทำให้ต้องคอยถอดๆใส่ๆบ่อยๆ
-เลนส์ 2 ระยะ หรือแว่น 2 เลนส์:
แว่นจะมีรอยต่อแบ่งครึ่งตรงกลาง ชั้นบนไว้มองระยะไกล ชั้นล่างไว้มองระยะใกล้ สามารถใส่ติดตาได้ตลอด แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องใช้สายตามองระยะคอมพิวเตอร์ เมื่อเหลือบตาผ่านรอยต่อเลนส์จะมีภาพกระโดด
-เลนส์โปรเกรสซีฟ:
เป็นแว่นหลายระยะ ที่ไม่มีรอยต่อของเลนส์ โดยเลนส์ค่อยๆไล่ค่าเพิ่มขึ้นจากส่วนบนของเลนส์ลงมา ทำให้สามารถมองได้ทุกระยะ
สามารถใส่ทำได้ทุกกิจกรรม แต่ด้วยโครงสร้างเลนส์จะทำให้มุมมองระยะกลางหรือคอมพิวเตอร์ที่ค่อนข้างแคบ และต้องปรับตัวในช่วงแรก
-ออฟฟิศเลนส์:
เป็นเลนส์ระยะกลาง-ใกล้ ไม่มีรอยต่อ เหมาะกับวัยทำงาน ที่ทำงานหน้าจอหลายอย่างพร้อมๆกัน เช่น จอโปรเจ็คเตอร์ คอมพิวเตอร์ แท๊บเล็ต มือถือ เอกสาร อาจใช้เป็นแว่นอีกตัวเพิ่มจากเลนส์โปรเกรสซีฟ หากต้องนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน
การเลือกเลนส์ที่เหมาะสม ขึ้นกับค่าสายตา และลักษณะการใช้สายตาของแต่ละบุคคล เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีที่สุด
"รู้หรือไม่ สายตาสั้น เสี่ยงต่อโรคตา"
ทราบหรือไม่ว่า ผู้ที่สายตาสั้นนั้นมีความเสี่ยงต่อโรคตาหลายชนิด
คือ ต้อหิน จอประสาทตาฉีกขาด และหลุดลอก จอประสาทตา จุดรับภาพเสื่อม ต้อกระจก
โดยมักเกิดในผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมาก ซึ่งอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด
และอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
ในปัจจุบันมีการศึกษาวิธีชะลอการเพิ่มของค่าสายตาสั้น เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็น
โดยมีวิธีดังนี้
1. การหยอดยา 0.01% Atropine
ข้อดี: ได้ผลดี วิธีที่จักษุแพทย์ใช้ในโรงพยาบาล มีผลข้างเคียงน้อย
ข้อเสีย: ต้องหยอดยาทุกวัน ต่อเนื่องอย่างน้อย2ปี โดยจักษุแพทย์จะเลือกเคสที่จำเป็นต้องใช้ยา ตามค่าสายตา อายุ การเพิ่มขึ้นของค่าสายตา และประวัติครอบครัว
2. ใช้เลนส์ชะลอสายตาสั้น
เป็นเลนส์ที่มีโครงสร้างพิเศษ นอกจากแก้ไขค่าสายตา ยังช่วยชะลอการเพิ่มของค่าสายตา
ข้อดี: ไม่ต้องหยอดยา ไม่มีผลข้างเคียงจากยา สะดวกในผู้ที่ใส่แว่นสายตาอยู่แล้ว
ข้อเสีย: ราคาสูงกว่าเลนส์สายตาทั่วไป
ควรเลือกเคสที่เหมาะสม การวัดค่าสายตาที่แม่นยำ และการเลือกกรอบแว่นที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพของเลนส์ ภายใต้คำแนะนำของจักษุแพทย์ หรือนักทัศนมาตร
เลนส์มีหลายโครงสร้างจากหลายบริษัทเลนส์ ซึ่งมีผลชะลอค่าสายตาได้ต่างกัน จึงควรเลือกเลนส์ที่มีประสิทธิภาพที่ดี
3. Outdoor activities หรือกิจกรรมกลางแจ้ง
ช่วยชะลอการเกิด และการเพิ่มค่าสายตาสั้นได้ แนะนำกิจกรรม 2 ชั่วโมงต่อวัน
4. คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ ต้องระมัดระวังเรื่องการดูแลในเด็ก
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่สายตาสั้น เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆข้างต้น
ควรตรวจเช็คสายตาและการมองเห็นทุกปี
โดยเฉพาะผู้ที่สายตาสั้นมากกว่า -6 D หรือ 600
หมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติดังนี้ ควรรีบพบแพทย์
-ตามัว -มีจุดดำลอยหรือแสงวาบในตา
-เงาดำตรงกลางภาพ -มีม่านมาบังลานสายตา
-เห็นเส้นตรงบิดเบี้ยว
"ตรวจเช็คจอประสาทตาด้วยตัวเองง่ายๆที่บ้าน"
ตรวจเช็คจอประสาทตาด้วยตัวเองง่ายๆที่บ้าน
โรคจอประสาทตา จะทำให้มีอาการเห็นภาพบิดเบี้ยว ขนาดภาพเล็กลง หรือมองไม่เห็นในบางจุดของภาพได้ จักษุแพทย์จะให้คนไข้สังเกตอาการด้วยตนเองที่บ้าน ด้วยตาราง Amsler grid
วิธีการตรวจ
ตรวจในที่มีแสงสว่างเพียงพอ
หากมีแว่นสายตาสำหรับมองระยะอ่านหนังสือ ให้ใส่แว่นได้ตามปกติ
ถือตารางอยู่ห่างจากตา 35 เซนติเมตร
ตรวจด้วยตาทีละข้าง โดยใช้มือปิดตาอีกข้าง จ้องตรงจุดสีดำที่อยู่ตรงกลางตาราง ปกติจะเห็นเส้นตรงไม่เบี้ยว ไม่แหว่ง หากผิดปกติอาจเห็นเป็นเส้นบิดเบี้ยว ภาพหายไปบางจุด
ตรวจด้วยวิธีเดียวกันในตาอีกข้าง
ตรวจอย่างสม่ำเสมอ
หากผิดปกติ ควรพบจักษุแพทย์
หากมีโรคจอประสาทตาอยู่แล้ว ให้สังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ และแจ้งจักษุแพทย์หากมีการเปลี่ยนแปลงค่ะ